ข้อมูลพื้นฐาน จ.บุรีรัมย์

จังหวัดบุรีรัมย์ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุม 21 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ มีอาณาเขตทิศเหนือติดกับจังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดสุรินทร์ ทิศใต้ติดกับจังหวัดสระแก้ว และประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดสุรินทร์ และทิศตะวันตกติดกับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์ในส่วนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล ประกอบด้วย 10 ลุ่มน้ำสาขา

ปริมาณฝนและปริมาณน้ำท่า : ปริมาณฝนในจังหวัดบุรีรัมย์มีค่าเฉลี่ยรายปีเท่ากับ 1,211 มม. โดยค่าปริมาณฝนรายปีเฉลี่ยที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน 1,050 มม. หรือคิดเป็นร้อยละ 87 ของทั้งหมด และมีค่าปริมาณฝนรายปีเฉลี่ยที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง 161 มม. หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของทั้งหมด1/ ส่วนปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปีเฉลี่ย สามารถสรุปเป็นลุ่มน้ำสาขาที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดบุรีรัมย์ได้ดังนี้
ลุ่มน้ำสาขา ปริมาณน้ำท่ารวมเฉลี่ยรายปี (ล้านลบ.ม.)
           ลำจักราช                  175.18     ล้านลบ.ม.
           ลำนางรอง               258.43      ล้านลบ.ม.
           ลำปะเทีย                 131.22      ล้านลบ.ม.
           ลำปลายมาศ           425.04       ล้านลบ.ม.
           ลำน้ำมูลส่วนที่ 2      397.89     ล้านลบ.ม.
           ห้วยเอก                    212.62      ล้านลบ.ม.
           ลำสะแทด                 612.37     ล้านลบ.ม.
           ลำพังชู                     279.19      ล้านลบ.ม.
           ห้วยตะโคง               268.98      ล้านลบ.ม. 
           ลำชี                          882.69     ล้านลบ.ม.    
ทั้งนี้ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปีเป็นค่าของทั้งลุ่มน้ำสาขาซึ่งมีพื้นที่นอกขอบเขตจังหวัดด้วย
 

ปริมาณน้ำบาดาล : น้ำที่สูบขึ้นมาใช้จากบ่อบาดาลและบ่อน้ำตื้นของพื้นที่ลุ่มน้ำในจังหวัดบุรีรัมย์ มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 56 ล้าน ลบ.ม./ปี หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำบาดาลที่สามารถพัฒนาได้ของพื้นที่ลุ่มน้ำในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีค่าประมาณ 81 ล้าน ลบ.ม./ปี ทั้งนี้ การพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ไม่ควรพัฒนาจนใกล้เคียงกับศักยภาพ เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงในเชิงปริมาณและคุณภาพโดยเฉพาะเรื่องความเค็ม และอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของความเค็มด้วย
คุณภาพน้ำผิวดิน : ในช่วงฤดูแล้งปี พ.ศ. 2548 จะพบว่า คุณภาพน้ำในแม่น้ำมูลช่วงที่ผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ มีแนวโน้มคุณภาพต่ำลง โดยมีค่าเฉลี่ย DO ลดลง และมีค่าความสกปรกเพิ่มมากขึ้น เข้าเกณฑ์แหล่งน้ำประเภทที่ 4 และประเภทที่ 5