:: ไตรรงค์.เน็ต > สุขภาพ > ผักและสวนครัว ::


ผักประจำเดือนเมษายน - ตำลึง

ดินฟ้าอากาศ

  • เริ่มปีใหม่ของไทยเป็นช่วงที่โลกอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด อากาศร้อนจัด ความร้อนทำให้เบื่ออาหาร หงุดหงิด อาจเป็นหวัดร้อน เจ็บคอ คอแห้ง เพราะธาตุไฟกำเริบไม่สมดุล โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาว ควรเลือกรับประทานผักที่มีฤทธิ์เย็น เพื่อช่วยลดความร้อน

คุณค่าต่อสุขภาพ

ตำลึงมีวิตามินเอสูง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก มาก แพทย์แผนไทยจัดเป็นผักฤทธิ์เย็น ดับพิษร้อน

เกร็ดที่น่าสนใจ

  • ตำลึงเป็นผักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่มีหัวใต้ดิน มีคุณค่าทางอาหารสูง
  • สกุลผักตำลึงเป็นไม้เถาล้มลุก ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น (dioecious) ใบเดี่ยว เรียงสลับ ดอกออกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจะ กลีบดอกและกลีบเลี้ยงมีจำนวนอย่างละ 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 3 อัน ติดบนฐานรองดอก อับเรณูหันออก มี 2 พู รังไข่ติดใต้วงกลีบ ผลแบบมีเนื้อหนึ่งหรือหลายเมล็ด (berry) สกุลผักตำลึงมีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อน โดยเฉพาะในแอฟริกา ทั่วโลกมีประมาณ 20 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียวคือ ผักตำลึง Coccinia grandis (L.) Voigt
  • คนไทยใช้ยอดและใบตำลึงกินเป็นผักสด อาจนำไปต้มหรือลวกจิ้มกับน้ำพริก ใช้ปรุงในแกงต่างๆ เช่น แกงจืด แกงเลียง ต้มเลือดหมู ก๋วยเตี๋ยวหมูตำลึง นำไปผัดตำลึงไฟแดง หรือใส่ในไข่เจียว ผลอ่อนของตำลึงกินกับน้ำพริกคล้ายแตงกวา หรือดองกินคล้ายแตงดองได้ เนื้อในผลสุกของตำลึงมีรสอมหวาน กินได้ อุดมด้วยสารกลุ่มแอนโทไซยานินที่ต้านอนุมูลอิสระและดูแลผนังหลอดเลือดให้อ่อนนิ่มใช้งานได้ยืนยาว ใบตำลึงเป็นอาหารที่มีบีตาแคโรทีนสูงมาก
  • องค์การอาหารและสิ่งแวดล้อมเพื่อชนกลุ่มน้อยระบุว่า ตำลึงเป็นพืชที่มีบีตาแคโรทีนที่ดีที่สุดสำหรับชาวไทยภูเขา บีตาแคโรทีนเป็นสารกลุ่มคาโรทีนอยด์ทำหน้าที่กรองแสงให้กับดวงตา ป้องกันเลนส์ตาจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกออกซิไดซ์ด้วยแสง ป้องกันการเกิดต้อ บีตาแคโรทีนเป็นสารที่เปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้ จัดเป็นสารกลุ่มคาโรทีนอยด์ที่มีประสิทธิภาพการทำงานดีที่สุด ดังนั้น ที่กล่าวกันว่า "ตำลึงบำรุงสายตา" ก็เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง บีตาแคโรทีนเป็นสารต้านออกซิเดชันลดความเสียหายจากอนุมูลอิสระในร่างกาย ยับยั้งการทำลายของออกซิเจนเดี่ยวและอนุมูลเปอรอกซิลอิสระ เชื่อว่าเป็นสารต้านมะเร็ง โดยเสริมประสิทธิภาพของเซลล์นักฆ่า (natural killer cell) ในการกำจัดเซลล์มะเร็ง กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่ซ่อมแซมสารพันธุกรรมได้
  • ใยอาหารจากตำลึงสามารถดูดจับสารพิษในระบบทางเดินอาหารได้ดีกว่าผักที่มีในท้องตลาดทั่วไป พบว่าการกินตำลึงจะสามารถลดอัตราเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในระบบทางเดินอาหารได้
  • ตำลึงเป็นยาเย็น ดับพิษร้อน
  • แก้พิษคันจากใบไม้คันหรือหนอนคัน โดยนำใบตำลึงสดสัก ๔-๕ ใบ มาขยี้ เอาน้ำชโลมหรือทาบริเวณที่คัน
    เป็นเริม งูสวัด ให้ใช้ใบตำลึงล้างน้ำต้มสุกให้สะอาด ตำให้ละเอียด คั้นแล้วกรองเอาแต่น้ำผสมดินสอพอง สะตุ (เผาจนสุก) ทาผิวบริเวณที่เป็นให้เปียกชื้นอยู่เสมอ อาการแสบร้อนจะทุเลาลง ถ้าทาแล้วไม่รู้สึกเย็น ก็แปลว่ายาไม่ถูกโรคให้เลิกใช้
  • ใบและน้ำคั้นใบมีเอนไซม์อะไมเลส ช่วยย่อยอาหารจำพวกแป้งและกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้
  • ยอด เถา ใบ และราก ตำคั้นน้ำดื่มแก้หลอดลมอักเสบ
  • ลิ้นเจ็บ ลิ้นเป็นแผล ให้เคี้ยวผลตำลึงอ่อน

ผักที่มีสรรพคุณทดแทน

แตงกวา ฟักเขียว น้ำเต้า มะระ ผักบุ้ง

ข้อมูลเพิ่มเติม :

www.trironk.net