จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหมาป่วยเป็นโรค ต้อหิน


  ความดันในลูกตาส่วนหนึ่งเกิดจากปริมาตรของน้ำในช่องหน้าม่านตา (aqueous humor) ซึ่งสร้างจากตัวซีเลียรี่ (ciliary body) แล้วถูกส่งไปจากช่องหลังม่านตา (posterior chamber) ผ่านรูม่านตา (pupil) ไปยังช่องหน้าม่านตา (anterior chamber) ก่อนระบายออกทางมุมระหว่างม่านตากับกระจกตา ที่เรียกว่า iridocorneal angle หรือ drainage angle
ซึ่งโดยหลักแล้ว การหมุนเวียนของน้ำในช่องหน้าม่านตานี้ต้องสมดุลกัน คือ สร้างมาเท่าไหร่ก็ควรระบายออกไปเท่านั้น หากขบวนการสร้าง การไหลเวียน และการถ่ายเทออกน้ำเลี้ยงลูกตาผิดปกติหรือเปลี่ยนแปลงไป ก็อาจทำให้ความดันในลูกตาไม่คงที่ และหากเพิ่มสูงขึ้นถึง 30-35 มิลลิเมตรปรอท ก็จะทำให้เกิด โรคต้อหิน (Glaucoma) ได้ครับ

ประเภทของโรคต้อหินในน้องหมา

     โรคต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของความดันในลูกตาที่เพิ่มสูงขึ้นจากปกติ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับลูกตา ซึ่งสุนัขทั่วไปจะมีความดันในลูกตาอยู่ระหว่าง 16-30 มิลลิเมตรปรอท หากเพิ่มสูงขึ้น เวลาเราเอานิ้วคลำหรือแตะ ก็จะรู้สึกได้ว่าลูกตาแข็งตึงขึ้นราวกับก้อนหิน จึงเรียกชื่อโรคนี้ว่า โรคต้อหิน ซึ่งเราสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท ดังนี้ครับ

1 โรคต้อหินแบบปฐมภูมิ (Primary glaucoma) เป็นโรคต้นหินที่เกิดขึ้นเอง ไม่ได้เกิดจากการเป็นโรคอย่างอื่นมาก่อน เช่น โรคต้อหินชนิดมุมเปิด ซึ่งเกิดจากการเสียสมดุลระหว่างการสร้างและการระบายออกของน้ำในลูกตา แต่มุม iridocorneal angle ยังคงเปิดอยู่ปกติ เปรียบได้กับรูระบายน้ำที่มีตะไคร่น้ำ คอยต้านการระบายของน้ำ หรือ โรคต้อหินชนิดมุมปิด ซึ่งเป็นความผิดปกติในส่วนของโครงสร้าง ทำให้มุม iridocorneal angle แคบลงหรือปิดไป เปรียบได้กับรูระบายน้ำที่คดงอผิดรูปทำให้การระบายน้ำแย่ลง
ซึ่งน้องหมาที่เป็นโรคต้อหินแบบปฐมภูมินี้ บางรายก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมด้วย จากการศึกษาในสุนัขพันธุ์ beagle ที่เป็นโรคต้อหินชนิดมุมเปิด พบว่าเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบลักษณะด้อย (autosomal recessive) และการศึกษาในน้องหมาพันธุ์ Welsh springer spaniel ที่เป็นโรคต้อหินชนิดมุมปิด พบว่าเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบลักษณะเด่น (autosomal dominant) ครับ


2 โรคต้อหินแบบทุติยภูมิ (Secondary glaucoma) เป็นโรคต้อหินที่เกิดจากการเป็นโรคอย่างอื่นมาก่อน แล้วทำให้เกิดเป็นโรคต้อหินตามมา เช่น เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเลนส์ตาเคลื่อน โรคยูเวียอักเสบ (uveitis) โรคเนื้องอกในตา จนไปรบกวนทางถ่ายเทน้ำในช่องหน้าม่านตาออก หรือเกิดจากการที่มีเลือดออกภายในลูกตา (intraocular haemorrhage) แล้วมีลิ่มเลือดไปอุดตันการไหลเวียนของน้ำในช่องหน้าม่านตา หรือเป็นโรค Ocular melanosis แล้วเกิดเม็ดสีสะสมที่ iridocorneal angle และตาขาว ทำให้อุดตันการระบายออกของน้ำในช่องหน้าม่านตา ที่เรียกกันว่า Pigmentary glaucoma ครับ
นอกจากนี้ยังอาจแบ่งได้อีกเป็น โรคต้อหินที่เกิดแบบเฉียบพลัน แบบกึ่งเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรัง และโรคต้อหินที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด (Congenital glaucoma) ด้วย เช่น ต้อหินที่เกิดจากความผิดปกติของมุมที่ใช้ขับน้ำในช่องหน้าม่านตาออก เป็นการเจริญที่ไม่สมบูรณ์ของ ciliary cleft ซึ่งอาจแสดงอาการให้เห็นได้ตั้งแต่เกิดหรือหลังจากเกิดได้ไม่นานครับ


น้องหมาพันธุ์ไหนมีแนวโน้มเสี่ยงป่วยเป็นโรคต้อหินได้บ้าง

สำหรับน้องหมาพันธุ์ที่มีรายงานการพบว่า มีแนวโน้มเสี่ยงป่วยเป็นโรคต้อหิน อ้างอิงจาก Canine Inherited Disorders Database ซึ่งได้แบ่งแยกสุนัขพันธุ์เสี่ยงออกตามลักษณะต่าง ๆ ของโรคต้อหินในสุนัข ดังนี้

โรคต้อหินชนิดมุมเปิด (Open angle glaucoma) ได้แก่ พันธุ์ beagle, American cocker spaniel, basset hound, Boston terrier, miniature Schnauzer และ Norwegian elkhound

โรคต้อหินชนิดมุมปิด (Narrow/closed angle glaucoma) ได้แก่ พันธุ์ Alaskan malamute, American cocker spaniel, English cocker spaniel, basset hound, chow chow, dalmatian, Great Dane, wire and smooth fox terrier, poodle, samoyed, Siberian husky และ Welsh springer spaniel

โรคต้อหินชนิด Goniodysgenesis ได้แก่ พันธุ์ basset hound, Bouvier des Flandres, American cocker spaniel, English cocker spaniel, chihuahua, Dandie Dinmont terrier, Norwegian elkhound, poodle toy, miniature poodle, Siberian husky และ wire hair fox terrier

Pigmentary glaucoma ได้แก่ พันธุ์ Cairn terrier

อาการโรคต้อหินในน้องหมา ที่เจ้าของต้องรู้

อาการของน้องหมาที่กำลังเป็นโรคต้อหิน อาจแตกต่างกันออกไปตามประเภท ซึ่งบทความนี้ผมขอแยกอาการตามระยะเวลาของการเกิดโรคออกเป็น 2 ช่วงเวลาใหญ่ ๆ คือ แบบเฉียบพลันกับแบบเรื้อรัง  ถ้าหากเป็นแบบเฉียบพลัน คือ เกิดขึ้นไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง น้องหมาจะแสดงอาการเจ็บปวดลูกตา น้ำตาไหล ตาแฉะ เปลือกตากระตุก กระพริบตาบ่อย ๆ รูม่านตาขยายและอาจไม่ตอบสนองต่อแสงหรือตอบสนองช้าลง (ดูได้จากการหดตัวของรูม่านตา) ไม่กล้าสู้แสง ตาแดงจัด มีเลือดคั่ง เยื่อบุตาอักเสบ แต่บางรายอาจเกิดกระจกตาบวมน้ำ เห็นขุ่นเป็นฝ้าเหมือนมีหมอกสีฟ้า ๆ การมองเห็นลดลง เดินชนบ้างบางครั้ง ซึ่งหากความดันตาเพิ่มขึ้นจนถึง 60-70 มิลลิเมตรปรอท อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ เนื่องจากความดันลูกตาที่สูงมาก ๆ จะไปทำให้จอประสาทตาเสียหายได้ ซึ่งถ้าพบอาการแบบนี้ เจ้าของจะต้องรีบพาน้องหมาไปพบคุณหมอทันทีครับ จัดว่าเป็น "ภาวะฉุกเฉิน" ของโรคตาอย่างหนึ่ง

แต่หากเป็นแบบเรื้อรัง คือเป็นมาแล้วเป็นวัน ๆ เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน น้องหมาจะมีอาการเจ็บปวดตาน้อยลงหรืออาจไม่เจ็บปวดเลย ตาแดง เห็นการสร้างเส้นเลือดใหม่ที่ตาขาวหรือกระจกตา ลูกตาขยายใหญ่ ตาโปน กระจกตาอาจขุ่นหรือมีเม็ดสี การมองเห็นลดลง หรืออาจจะมองไม่เห็นแล้ว ซึ่งถ้าหากได้ให้คุณหมอทำการตรวจภายในลูกตาเพิ่มเติม อาจจะพบว่าโครงสร้างภายในลูกตาผิดปกติไป เช่น เกิดเลนส์ตาเคลื่อน ม่านตาฝ่อ จอประสาทตาเสื่อม และเส้นประสาทตา (optic nerve) ฝ่อได้ด้วยครับ

ซึ่งอาการทั้ง 2 กรณีที่กล่าวมา อาจจะเกิดขึ้นกับดวงตาหนึ่งข้างหรือทั้งสองข้างก็ได้ เวลาพาน้องหมาไปตรวจ คุณหมอก็จะใช้เครื่องมือมาทำการวัดความดันในลูกตา (ตามภาพ) ร่วมกับการตรวจมุมม่านตา และการส่องตรวจในตา


การรักษาโรคต้อหินให้น้องหมาได้อย่างไร

ในการรักษาโรคต้อหินให้กับน้องหมา มีจุดประสงค์เพื่อให้ความดันภายในลูกตาลดลง เพื่อป้องกันไม่ให้จอประสาทตา และเส้นประสาทตา (optic nerve) ถูกทำลาย เพราะจะทำให้น้องหมาตาบอดได้ในรายที่เป็นแบบเฉียบพลัน คุณหมออาจให้การรักษาทางยาก่อน แต่หากอาการรุนแรง ไม่ตอบสนองภายใน 24-48 ชั่วโมง อาจใช้วิธีการผ่าตัดรักษาต่อไป

ซึ่งรูปแบบวิธีการผ่าตัดเพื่อลดความดันในลูกตานั้นก็มีหลายแบบ ขึ้นกับลักษณะของโรคต้อหินที่น้องหมาเป็น เช่น วิธีลดการสร้างน้ำในช่องหน้าม่านตา โดยการทำลาย ciliary body บางส่วน หรือวิธีเพิ่มช่องทางการขับน้ำในช่องหน้าม่านตาให้มากขึ้น หรือใส่วัสดุส่วนที่เป็นท่อไว้ในช่องหน้าม่านตาเพื่อระบายน้ำออก ฯลฯ นอกจากนี้อาจจะต้องผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของลูกตาอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต้อหินด้วย เช่น ในรายที่เป็นโรคเลนส์ตาเคลื่อน อาจจะต้องผ่าตัดเพื่อนำเลนส์ตาออกจากตา
แต่ถ้าโชคร้ายน้องหมาไปตอบสนองต่อการรักษาใด ๆ เลย โดยเฉพาะในรายที่ยังมีความดันลูกตายังสูงอยู่ น้องหมาปวดตารุนแรง และมองไม่เห็นแล้ว หรือเป็นโรคอื่น ๆ แทรกซ้อนด้วย เช่น เนื้องอกในลูกตา คุณหมออาจพิจารณาผ่าตัดเอาลูกตานั้นออก

สำหรับรายที่เป็นแบบเรื้อรังนั้น ส่วนใหญ่จะใช้การรักษาทางยา เพื่อควบคุมระดับความดันในลูกตาให้ปกติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งมีทั้งยาหยอดตาและยากิน โดยเจ้าของจะต้องพาน้องหมากลับมาพบคุณหมอ เพื่อตรวจวัดความดันลูกตาเป็นระยะ ๆ แต่หากไม่ตอบสนอง ก็อาจจะพิจารณาทำการผ่าตัดรักษาเป็นราย ๆ ไป

โรคต้อหินในน้องหมา เป็นโรคตาที่พบได้แทบจะทุกช่วงวัยเลยก็ว่าได้ครับ ซึ่งหากตรวจพบแล้วจะต้องรีบทำการรักษา แต่น่าเสียดายที่บางครั้ง เจ้าของก็ไม่ทันได้สังเกตอาการ กว่าจะพามาพบคุณหมอ บางทีก็สายไปเสียแล้ว ดังนั้นการหมั่นสังเกตอาการน้องหมาจึงเป็นสิ่งสำคัญครับ หากพบอาการตาแดง ตาขุ่น รูม่านตาขยาย เจ็บปวดลูกตา ตาโปนขยาย หัวตก เบื่ออาหาร ซึมเศร้า ให้รีบพามาพบคุณหมอโดยทันที เพราะหากเป็นโรคต้อหินแล้ว ปล่อยทิ้งไว้เพียงแค่ 1-3 วัน ก็อาจทำให้น้องหมาตาบอดได้ครับ
 

                                                                    หน้าหลัก       ก่อนหน้า     หน้าถัดไป