23 พฤศจิกายน 2547 หน้า 2/2 |
ถึงโรงแรมราวบ่ายสามกว่า (รูปที่ 1) ชื่อโรงแรม Mets เป็นโรงแรมใหญ่กลางใจเมือง จากห้องพักมองลงมาเป็นอย่างนี้ (รูปที่ 2) มองเห็นบ้านเห็นเมืองไกลๆ สุดขอบภูเขาเลย ส่วนด้านซ้ายมือเป็นห้างสรรพสินค้าใหญ่ (รูปที่ 3) นับว่าถูกใจขาช๊อปมาก
วางของเสร็จผมก็ชวน บุน-ซัง (ชาวกัมพูชา) โตโต้-ซัง, ปัก-ซัง (ชาวฟิลลิปินส์) ไปเดินดูเมืองกัน เจอต้นไม้ถูกใจ สวย คือจิงโกะ (แปะก๊วย) (รูปที่ 4) ต้นไม้ให้ใบสีเหลืองอร่าม ก่อนทิ้งใบในหน้าหนาว ชอบมาก เพราะบ้านเราไม่มี ขอแวะถ่ายรูปหน่อย (รูปที่ 5) บ้านเมืองเขา เล็กๆ เหมือนอำเภอทางนอกๆ ของเรา อันที่จริงที่นี่นับเป็นเมืองค่อนข้างใหญ่ แต่ดูเล็กเพราะแผ่นดินไหวบ่อยเลยไม่นิยมทำตึกสูงๆ แต่ขยายเมืองไปรอบๆ แทน (รูป 6-7) ส่วนข้างทาง ก็มีดอกไม้เล็กๆ น้อยๆ ปลูกทั้งหน้าร้านรวงและเกาะข้างถนนระหว่างทางขนานกับทางหลัก และก็เจอเพื่อนๆ อีกหลายคนก็มาเดินเล่นกัน
ค่ำเร็วที่นี่ ราว 16 นาฬิกานิดหน่อย ก็ตะวันตกแล้ว อยากถ่ายสถานีรถไฟ เจอาร์ ซึ่งมองเห็นจากสุดทางเดินระหว่างห้อง เลยได้ภาพตะวันตกดินที่นากาโอกะมาให้ดู แล้วค่อยมาอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าและพักผ่อน ราว 18 น. ก็นัดกันเดินไปร้านหมี่เย็น (โซบะ) ที่อร่อยที่สุดในญีปุ่น อาจารย์ฮาราดะ คุยว่าอย่างนั้น เราเดินผ่านสถานีรถไฟมาอย่างนี้ (รูปที่ 10) จะเป็นว่า มีการประดับธงชาติด้วย ถามคุณอิซูกะ-ซัง บอกว่าเป็นวันแรงงานของญี่ปุ่น ดูสิ วันแรงงานเขาประดับธงด้วย เขาให้ความสำคัญกับแรงงานขนาดนี้เลย
ร้าน (ภัตตาคาร) ที่เราไปทานอาหารเย็นนี้ เป็นร้านแบบห้องแถวสัก 3 คูหา เราขึ้นไปชั้นบน เพราะจองห้องพิเศษไว้ น่ารักมาก ห้องนี้ตกแต่งแบบญี่ปุ่นเพื่อเลี้ยงต้อนรับ (Welcome Party) แต่ต้องจ่ายค่าทานเองราว 2,000 เยน (ประมาณ 600 บาท) แบบพามาทาน ไม่ใช่พามาเลี้ยง มาดูบรรยากาศกัน เรารออาจารย์ฮาราดะ สักพัก เพราะเรามาถึงก่อนเวลา สัก 20 นาที เขาก็ทักทายต้อนรับกันแบบนั่งเครารพ กันแบบในหนังเลย (รูปที่ 11) ผมว่าประเพณี โค้งแล้วโค้งอีก ไม่ได้นับว่ากี่ครั้ง เขาน่ารักมาก กดถ่ายมา ซากิโมโต้-ซัง (คนกลาง) บอกว่าอย่าถ่ายรูปๆ ไม่ใช่ตอนนี้ เราก็งง อ้าว เป็นอะไรห้ามถ่าย คิดว่าพิธีการอะไรที่ห้ามตามประเพณีรึไง แต่ก็หยุดถ่ายไปสักพักค่อยมาถาม เธอบอกว่า เปล่าหรอก เขิน เราเริ่มทานด้วยน้ำชาที่หอมอร่อยมาก แก้หนาวได้ดี อาจารย์ฮาราดะ (รูป 12 ซ้ายมือผม) ทักทายด้วยการแลกที่นั่ง คุยทีละคน ช่วงรออาหาร อาจารย์มาสอนที่ AIT บ้านเรา บ่อยๆ และยังมีงานวิจัยที่ประเทศไทยหลายเรื่อง
เอาล่ะ อาหารมาแล้ว เป็นโซบะ วางเป็นถาดๆ (รูปที่ 17 ตัวอย่างชุดที่เราสั่งถ่ายจากตู้โชว์ และรูปที่ 15) ประกอบด้วยโซบะโรยสาหร่าย ทานกับผักชุบแป้งทอด กุ้งชุบแป้งทอด (เทมปุระ) และซุปเย็นๆ เขาทานกันเย็นๆ ชืดๆ เราเลยเรียกว่าหมี่เย็นกระมัง แต่ถูกห้ามไม่ให้กิน (รอเป็นชั่วโมงแล้ว) ต้องขูดหัวผักกาดเขียว (วาซาบิ) ก่อน คอง-ซัง (รูปที่ 13) และเต๋า-ซัง (รูปที่ 14) จากเวียดนามก็ลองก่อน หัวผักกาดเขียวเป็นอาหารเอกลักษณ์ญี่ปุ่น ปลูกได้ดีที่ญี่ปุ่น เป็นเหมือนต้นของผักกาด ขนาดประมาณหัวแม่มือ ขูดกับแผ่นไม้ขนาดฝ่ามือที่หุ้มด้วยหนังฉลาม ขูดด้วยการวนไปมา หรือขึ้นลงตามถนัด และต้องขูดเองจึงจะทานได้ เนื่องจากโซบะ จืดชืด ต้องมีวาซาบิสด ทานไปด้วยจึงจะรู้สึกอุ่นสบายแก้หนาว อาจารย์ฮาราดะคิดอยากแกล้ง คอง-ซัง หลอกให้ ทานวาซาบิสดๆ คอง-ซัง ก็ปาดจากหนังฉลาม เข้าปาก หน้าตาเฉย บอกอร่อยดี ทำเอาอาจารย์ทั้งหลายงงไปเลย คอง-ซัง บอกทานบ่อยๆ อาหารเวียดนามหลายอย่างรสจัดกว่านี้ จากนั้นเราก็รุมโซ้ยกันเลย (รปูปที่ 15)
โซบะ เป็นหมี่พิเศษที่ทำจากเมล็ดโซบะ ต้นไม้ล้มลุก ใบคล้ายกับมะละกอ หรือเมเปิ้ล ขนาดสัก 2 ฝ่ามือ ใช้เมล็ดมาบดหมักนึ่งและตัดแบบก๋วยเตี๋ยว ร้านนี้มีประกาศนียบัตรไม้ประกาศเกียรติคุณว่าได้รับรางวัลอร่อยที่สุดในญี่ปุ่นด้วย มิน่าล่ะ ถึงบอกว่าอร่อยที่สุดในญี่ปุ่น (รูปที่ 18) เขาไม่ถามว่าอิ่มกันไหม พอหมดก็คุยต่อ สักพักก็กลับ นึกว่าจะมีของหวาน เลยต้องมาหาอะไรทานเพิ่ม แวะห้างได้ขนมซอง และนมกล่อง กลับมาทาน ก่อนถึงโรงแรมก็เจอร้านร้อยเยนที่นี่ เปิดบนห้าง ได้ของมาอีกหลายอย่างเป็นของฝากให้เพื่อนๆ ประเทศไทย กลับมาแช่น้ำอุ่นจัดๆ ก่อนนอน เพลียเอาการจากการเดินทาง พรุ่งนี้มาเล่าต่อครับ